ไข้หวัด หรือ โรคหวัด (Common cold, Upper respiratory tract infection – URI)
ไข้หวัด หรือ โรคหวัด (Common cold, Upper respiratory tract infection – URI) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้นที่กระทบต่อจมูกและคอ อาการที่สำคัญของโรคนี้มีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เองภายใน 7 วัน
หวัด* เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน และในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพบเกิดได้ตลอดทั้งปี มักพบได้มากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว และในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนในช่วงฤดูร้อนจะพบโรคนี้ได้น้อยลง ในคนบางคนอาจเป็นโรคนี้ได้ปีละหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรก ๆ ที่อาจเป็นไข้หวัดเฉลี่ยประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดนั้นมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด จึงมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่มาก เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลงไป
วิธีรักษาไข้หวัด
เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่
• สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโตที่มีอายุมากกว่า 5 ปี
1.ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ (Antipyretics) ซึ่งโดยทั่วไปยาลดไข้ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ พาราเซตามอล(Paracetamol) ส่วนยาอีกกลุ่มที่ได้รับความนิยมรองลงมา คือ ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มหลังนี้จะให้ผลในการลดไข้ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับลดไข้ในกรณีของไข้เลือดออก หากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วรับประทานยากลุ่มนี้จะมีโอกาสทำให้เลือดออกจนเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก
• พาราเซตามอล (Paracetamol) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 325 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง จากรายงานขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration; USFDA) แนะนำการรับประทานแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 650 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกิน 2,600 มิลลิกรัมต่อวัน ในการใช้ยาก็ไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากจะเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ โดยควรรับประทานเฉพาะเวลาที่มีอาการ ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
• ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม
2.ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้รับประทานยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ (Antihistamine) เมื่ออาการทุเลาลงแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ โดยยาลดน้ำมูกสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) เป็นต้น และกลุ่มที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้แก่ ลอราทาดีน (Loratadine), เดสลอราทาดีน (Desloratadine), เซทิไรซีน (Cetirizine), เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เป็นต้น โดยยาในกลุ่มแรกจะสามารถควบคุมอาการได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาในกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม แต่จะทำให้เกิดอาการง่วงซึม เนื่องจากมีฤทธิ์กดระบบประสาท หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถและการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
• คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (ชนิดเม็ด 4 มิลลิกรัม) วันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 0.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง
• ลอราทาดีน (Loratadine) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (ชนิดเม็ด 10 มิลลิกรัม) วันละครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา (ชนิดน้ำ 5 มิลลิกรัม/ช้อนชา) หรือ 1/2 เม็ด วันละครั้ง
3.ถ้ามีอาการคัดแน่นจมูกมากเนื่องจากมีน้ำมูกมาก ให้รับประทานยาแก้คัดจมูก (Decongestants) เช่น ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) หรือใช้ยาสำหรับพ่นรูจมูก ได้แก่ ออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline), ไซโลเมตาโซลีน (xylometazoline), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นต้น โดยยาในรูปแบบพ่นจมูกจะออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาในรูปแบบรับประทาน แต่การใช้ยาพ่นจมูกนี้ต้องใช้อย่างถูกวิธีและใช้ในระยะสั้นที่สุด (3-5 วัน) ซึ่งก่อนใช้ต้องสั่งน้ำมูกออกก่อนเสมอ และห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดใช้ยา ทำให้เกิดการระคายเคืองจมูก และทำให้มีน้ำมูกเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยาแก้คัดจมูกยังอาจมีผลกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย ในการใช้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้
• ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 เม็ด (ชนิดเม็ด 60 มิลลิกรัม) วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 7-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา (ชนิดน้ำ 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา) หรือ 1/2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง, ในเด็กอายุ 5-6 ปี ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2-3 ครั้ง (ยานี้รับได้จากสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านยา)
• ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการทำให้จมูกโล่งด้อยกว่าซูโดอีเฟดรีนอยู่บ้าง ในผู้ใหญ่ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 1.87-3.75 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง ในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 3.75-7.5 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง และในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้ใช้ตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine hydrochloride รับประทาน 10-20 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือตัวยาในรูปแบบ Phenylephrine tannate รับประทาน 7.5-15 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
• เพื่อความสะดวกในการใช้ยาและลดภาระการรับประทานยาหลายเม็ด ในท้องตลาดจึงมีการจัดทำยาในรูปแบบของยาเม็ดสูตรผสมที่มีทั้งตัวยาลดน้ำมูกและตัวยาแก้คัดจมูกในเม็ดเดียวกัน
• นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีที่ช่วยลดน้ำมูกและทำให้หายใจโล่งขึ้นอีกวิธี คือ การล้างจมูกที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการใช้น้ำเกลือ 0.9% g/mL (Normal saline solution) และกระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็ม ขนาด 10-20 mL โดยทั่วไปนิยมใช้ล้างวันละ 2 ครั้ง
4.ถ้ามีอาการไอ ควรจิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง 4 ส่วน น้ำมะนาว 1 ส่วน) แต่ถ้าไอมากให้รับประทานยาแก้ไอ ซึ่งในกลุ่มยาบรรเทาอาการไอนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ ยาระงับการไอ (Antitussive) ที่ใช้สำหรับรักษาอาการไอระคายคอ ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture), เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), โคเดอีน (Codeine) เป็นต้น และกลุ่มยาขับเสมหะ (Expectorant) ที่ เหมาะสำหรับรักษาอาการไอแบบมีเสมหะหรือเสลด เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาที่เรียกว่า ยาละลายเสมหะ (Mucolytic agents) เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine), คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine), แอมบรอกซอล (Ambroxol), อะซิทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) เป็นต้น
• ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ส่วนในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง (ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี)
• เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ในผู้ใหญ่และผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ชนิดเม็ด 15 มิลลิกรัม) หรือ 1-2 ช้อนชา (ชนิดน้ำเชื่อม 15 มิลลิกรัม/ช้อนชา) วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/4 ช้อนชา อายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1/2-1 ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้งเช่นกัน
• ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง (ควรให้หลังอาหารและก่อนนอน)
• โคเดอีน (Codeine) ใช้แบ่งรับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ตามที่แพทย์แนะนำ (ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการหอบหืดกำเริบหรือมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้)
• สำหรับทารกและเด็กเล็ก
1.ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ชนิดน้ำเชื่อม
2.ถ้ามีน้ำมูก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดน้ำมูกออกบ่อย ๆ (ถ้าน้ำมูกเหนียวข้น ให้ใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดในจมูก (ถ้าน้ำมูกเหนียวข้น ควรชุบน้ำต้มสุกหรือน้ำเกลือให้พอชุ่มก่อน)
3.ถ้ามีอาการไอให้จิบน้ำอุ่นมาก ๆ หรือจิบน้ำผึ้งมะนาว (ห้ามให้น้ำผึ้งแก่ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคโบทูลิซึม) แต่ถ้ามีอาการอาเจียน ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน แนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตอนจะเข้านอน
• ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะยานี้ไม่ได้มีผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส (อาการที่สังเกตได้ของการติดเชื้อไวรัส คือ มีน้ำมูกใส ๆ หรือสีขาว) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีไข้ทุกวันติดต่อกันเกิน 4 วัน เจ็บคอ มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดหู หูอื้อ ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicellin V) หรืออะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) ส่วนในรายที่แพ้เพนิซิลลินวีให้ใช้อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) แทน แต่ในการใช้กลุ่มนี้จะต้องมีวิธีการใช้อย่างเคร่งครัด คือ ใช้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเวลานาน 7-10 วัน (หรือตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ) โดยต้องใช้ติดต่อกันไปจนครบแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
• สมุนไพรแก้หวัด ในปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรชนิดใดที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สามารถช่วยลดระยะเวลาของการติดเชื้อได้
References
1.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไข้หวัด (Common cold/Upper respiratory tract infection/URI)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 389-392.
2.ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รับมือโรคหวัดอย่างไร ให้เหมาะสม”. (ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [21 ก.ค. 2016].
3.หาหมอดอทคอม. “โรคหวัด (Common cold)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 ก.ค. 2016].
4.https://medthai.com/โรคหวัด/
5.http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/19/ลดขนาด-พาราเซตามอล-paracetamol-ลดความเสีย่งความเป็นพิษต่อต่อ/